ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต



       ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ


                                                    วีดีโอความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆในระบบนิเวศ


        ในระบบนิเวศหนึ่งประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายแตกต่างกันมากมาย โดยสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างซับซ้อนและอาจก่อให้เกิดผลกระทบระหว่างกันได้ ซึ่งสามารถจำแนกผลกระทบที่เกิดจากความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตได้ 3 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์แบบได้รับประโยชน์ (+) ความสัมพันธ์แบบเสียประโยชน์ (-) และความสัมพันธ์แบบไม่ได้รับและไม่เสียประโยชน์ (0) ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต ในระบบนิเวศแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ
1.. ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน
ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นกลุ่ม เป็นฝูง มีความสัมพันธ์ ทั้งในด้านบวกและลบ ผลดีก็คือ การอยู่ร่วมกันเป็นฝูง จะทำให้มีการปกป้องอันตรายให้กัน มีการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วขึ้น มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ เป็นผู้นำ ฝูง เช่น การรวมฝูงของช้าง ลิง ผึ้ง ต่อ แตน และนก ขณะเดียวกันก็มีผลในทางลบ เพราะ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มและดำรงชีวิตแบบเดียว กันนั้น ก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน และเกิด ความหนาแน่นของประชากรมากเกินไป
2.ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่อยู่ร่วมกันในระบบนิเวศจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถจำแนกได้เป็นรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
1. ภาวะเป็นกลาง (neutralism; 0/0)
เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกันแต่อาศัยในระบบนิเวศเดียวกัน จึงไม่มีสิ่งมีชีวิตฝ่ายใดที่ได้รับหรือเสียประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ไส้เดือนกับเสือ ผีเสื้อกับลิง มดกับผึ้ง เป็นต้น
2. ภาวะการล่าเหยื่อ (predation;+/-)
เป็นความสัมพันธ์ที่มีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เรียกสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์ว่าผู้ล่า (predator) และเรียกสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่เป็นผู้เสียประโยชน์ว่า ผู้ถูกล่า หรือ เหยื่อ (prey) โดยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตแบบล่าเหยื่อนี้ ส่วนใหญ่ผู้ล่าจะกินผู้ถูกล่กเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีวิต ตัวอย่างเช่น นกกินแมลง ปลาฉลามกันแมวน้ำ และเสือกินกวาง เป็นต้น
3. ภาวะการแข่งขัน (coompetition; -/-)
เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน อาจเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกันโดยสิ่งมีชีวิตทั้งสองมีความต้องการใช้ปัจจัยในการดำรงชีวิตที่เหมือนกัน ดังนั้นหากระบบนิเวศอยู่ในสภาวะที่ขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิตนั้น สิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดก็ต้องแก่งแย่งหรือแข่งขันกัน ซึ่งในการแข่งขันก็จะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งคู่เสียประโยชน์จากการแข่งขัน และหากเป็นการแข่งขันของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน ก็จะก่อให้เกิดผลเสียจากการแข่งขันมากกว่าการแข่งขันระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน ตัวอย่างเช่น การแย่งตำแหน่งจ่าฝูงของหมาป่า การแย่งกันล่าเหยื่อของสุนัขจิ้งจอกกับเสือ เป็นต้น
4. ภาวะการได้รับประโยชน์ร่วมกัน (protocooperation; +/+)
เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยสิ่งมีชีวิตทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ทั้งคู่ อาจเป็นการอยู่ร่วมกันตลอดเวลาหรืออยู่ร่วมกันเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ได้ และเมื่อสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดแยกจากกัน ก็จะยังสามารถดำรงชีพได้ตามปกติ ตัวอย่างเช่น นกเอี้ยงบนหลังควาย ซึ่งนกเอี้ยงจะอาศัยกินแมลงบนผิวหนังควายหรือแมลงที่บินขึ้นมาขณะที่ควายเหยี่ยบย่ำพื้นดินเพื่อหาอาหาร ส่วนควายจะได้รับประโยชน์จากการลดความรำคาญจากแมลงที่อยู่ตามร่างกาย หรือความสัมพันธ์ระหว่างปลาการ์ตูนจะอาศัยอยู่ตามดอกไม้ทะเลเพื่อเป็นที่หลบภัยจากผู้ล่า ขณะที่ปลาการ์ตูนก็จะคอยปกป้องดอกไม้ทะเลจากปลาบางชนิดที่กินดอกไม้ทะเลเป็นอาหาร
5. ภาวะพึ่งพากัน (mutualism; +/+)
เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันโดยที่สิ่งมีชีวิตทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ทั้งคู่ การอยู่ร่วมกันลักษณะนี้สิ่งมีชีวิตทั้งคู่ต้องอยู่ร่วมกันตลอดไป ไม่สามารถแยกจากกันได้ ตัวอย่างเช่น ไลเคน (lichen) ซึ่งเป็นภาวะการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยระหว่างรากับสาหร่าย พบได้ตามบริเวณก้อนหินหรือเปลือกไม้ที่มีความชื้น โดยสาหร่ายจะอาศัยเส้นใยของราช่วยยึดเกาะ พรางแสง และอุ้มน้ำให้เกิดความชื้น ในขณะที่ราจะอาศัยอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสงของสาหร่ายเพื่อการดำรงชีวิต
6. ภาวะอิงอาศัย (commensalism; +/0)
เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันโดยมีฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว ส่วนอีกฝ่ายจะไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ตัวอย่างเช่น ปลาฉลามกับเหาฉลาม โดยเหาฉลามเป็นปลาที่มีอวัยวะยึดเกาะกับตัวปลาฉลาม แต่ไม่ทำอันตรายแก่ปลาฉลาม และเหาฉลามจะได้รับประโยชน์ด้วยการกินเศษอาหารที่หลงเหลือจากปลาฉลาม
7. ภาวะปรสิต (paratism; +/-)
เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่มีขนาดแตกต่างกัน โดยสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่กว่า เรียกว่า ผู้ถูกอาศัยหรือเจ้าบ้าน (host) จะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่ขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ผู้อาศัย หรือ ปรสิต (parasite) โดยฝ่ายเจ้าบ้านจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากการถูกแย่งอาหาร หรือถูกใช้ส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นอาหารของปรสิต ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยในเจ้าบ้านได้
ภาวะปรสิตสามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะ คือ ภาวะปรสิตภายใน (endo-parasite) และภาวปรสิตภายนอก (ecto-parasite) ปรสิตทั้งสองลักษณะจะมีความแตกต่างกันที่ลักษณะการอยู่อาศับนตัวเจ้าบ้าน โดยปรสิตภายในจะอาศัยอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาของเจ้าบ้าน ได้แก่ พยาธิชนิดต่าง ๆ ในร่างกายของสัตว์ เป็นต้น ส่วนปรสิตภายนอกจะอาศัยอยู่ตามผิวหนังของเจ้าบ้าน เช่น เห็บ เหา หมัด เป็นต้น
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อยู่ระบบนิเวศเดียวกัน ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อยู่คนละระบบนิเวศด้วย เช่น ปลาที่เป็นผู้ล่าในระบบนิเวศผิวน้ำ อาจกลายเป็นผู้ถูกล่าโดยนกกินปลาที่อยู่ในระบบนิเวศชายฝั่ง เป็นต้น ความเชื่อมโยงระหว่างระบบนี้อาจเกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายคลึงกับห่วงโซ่หรือสายใยอาหาร
นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิดได้ ดังนั้นเมื่อสิ่งมีชีวิตก็ย่อมจะส่งผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิดได้ เช่น เมื่อสาหร่ายหรือแพลงค์ตอนพืชที่อยู่ตามผิวน้ำมีการเจริญเติบโตมากขึ้น จะทำให้เกิดการบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านลงสู่ใต้ผิวน้ำ พืชใต้น้ำจึงไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้และตายไปในที่สุด ซึ่งก็จะส่งผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่บริโภคพืชใต้น้ำเป็นอาหารได้
       ดังนั้นหากเราวาดแผงผังความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติแล้ว จะพบว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในธรรมชาติ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นร่างแหที่ซับซ้อนอย่างมาก เป็นลักษณะของความสัมพันธ์แบบไม่จบสิ้น และไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงแค่ในระบบนิเวศเดียวเท่านั้น


ที่มา
http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/2980-00/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น